สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างไรให้ไม่มีใครเจ็บปวด

Flocklearning
2 min readJan 7, 2020

ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญหลายอย่างในชีวิต เรารับรู้ว่า เพศชายเพศหญิง มีหน้าที่บางอย่างต่างกัน มีการเล่นบางอย่างที่เหมาะกับผู้ชายมากกว่า มีหน้าที่บางอย่างเป็นหน้าที่ของลูก เราต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งความคิดต่างๆเหล่านี้ หลายครั้ง มาจากสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ”

ความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ลูกยังเล็ก แม้เด็กจะยังเดินเตาะแตะและพูดจาอ้อแอ้ แต่ในสมองของพวกเขาจดจำและเรียนรู้สิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา มีงานวิจัยชี้ว่า พัฒนาการส่วนใหญ่ของมนุษย์เกิดขึ้นในช่วงปีแรกๆ ของชีวิตมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ สมองของเด็ก 3 ขวบ มีการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทมากกว่าสมองของผู้ใหญ่ประมาณ 2 เท่า แล้วจะค่อยๆ กำจัดจุดประสานประสาทที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปในช่วงวัยรุ่น

John Bowlby นักจิตวิทยาชื่อดังกล่าวว่า “วิตามินและโปรตีนมีความสำคัญต่อสุขภาพกายเพียงใด ความรักของแม่ในช่วงวัยทารกและวัยเด็กก็มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตเพียงนั้น”

เด็กที่ได้รับความรักเพียงพอ ก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีในตอนที่โตขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กสัมผัสได้ถึงความรักที่พ่อแม่ให้ คือการสมดุลความรู้สึกที่พอเหมาะพอดีจากการกระทำของพ่อแม่

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เราเห็นว่า ทุกการกระทำของพ่อแม่ในช่วงที่ลูกยังเล็ก จะฝังอยู่ในใจเด็กได้ง่ายกว่าตอนที่เขาเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นวิธีการสื่อสารกับลูก การสัมผัส พูดคุย และถ่ายทอดอารมณ์จึงสำคัญ แต่ปัญหาใหญ่ที่หลายครอบครัวมักต้องเผชิญคือ วิธีการใช้อำนาจกับลูก ซึ่งอาจทำไปในนามของความรักและหวังดีนี้ ไม่ได้นำมาซึ่งผลดีเสมอไป และอาจส่งผลทางลบติดอยู่ในใจไปอีกยาวนาน

ทำอย่างไร ที่เราจะจัดการกับ อำนาจที่เราคุ้นชิน และประเมินผลกระทบ ประเมินการใช้ ได้ยากแบบนี้

“เรามองอำนาจว่าถ้ามีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย แต่อำนาจของความสัมพันธ์นั้นต่างออกไป เพราะอาจเสียหายทั้งสองฝ่าย หรือมีความสุขด้วยกันทุกฝ่ายก็ได้” ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ ‘วิน-วิน’ คือการฟังและได้ยิน

คุณโอ๋ — วริสรา มีภาษณี คุณแม่ของลูกวัยรุ่น วิทยากรด้านการสื่อสารอย่างสันติ (Non-violent Communication) ทำงานกับความขัดแย้งมาหลายรูปแบบ อธิบายเพิ่มว่า “การที่เราได้ยินสำคัญมากๆ เลย คือได้ยินว่าอะไรที่สำคัญสำหรับตัวฉัน อะไรที่สำคัญสำหรับตัวเขา แล้วเราจะหาจุดร่วมในการอยู่ด้วยกันได้ ส่วนมากเวลาเราจัดการปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ด้วยการใช้อำนาจ ฉันจะเอาอย่างนี้ๆ มันง่ายค่ะ ไม่ต้องมาช้าๆ ค่อยๆ คุยกัน ค่อยๆ ฟังตัวเอง ค่อยๆ ฟังเขา แต่ทำแบบนี้ปัญหาก็ไม่จบ จะมีผลกระทบให้เราเก็บกวาดไปเรื่อยๆ ดังนั้น อยากชวนเราแก้ปัญหาที่ต้นทางเลยดีกว่า”

คุณโอ๋เล่าว่าปัญหาร่วมของทุกครอบครัวคือ ‘ความคาดหวังที่เฉพาะเจาะจงบางอย่างต่อกัน’

“เรามักจะมีความคาดหวังโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังคาดหวังต่อกันอยู่

เช่น เราอาจจะอยากเห็นลูกของเราทำอะไรในวันหยุด ซึ่งเราคิดตั้งแต่วันพุธแล้ว แล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราเริ่มตั้งความหวังบางอย่างต่อเขา พอถึงวันหยุด ลูกอาจทำอย่างอื่น ไม่ใช่สิ่งที่เราแอบหวังไว้ในใจ แม้เขาจะดูแลตัวเองและทำได้อย่างดีเลย แต่เราก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แล้วก็ไปตั้งคำถามว่าทำไมลูกไม่ทำสิ่งที่เราอยากให้ทำ ทั้งที่เราก็ไม่เคยบอกเขาล่วงหน้าว่าอยากจะเห็นลูกทำอะไรบ้างในวันหยุด เป็นต้น”

แม้ประเด็นที่คุณโอ๋ ยกตัวอย่างให้ฟังข้างต้นจะดูเป็นเพียงเรื่องเล็กในชีวิตประจำวัน (ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง) แต่ขณะเดียวกัน ครอบครัวก็จะมีความคาดหวังต่อกันในระดับที่ใหญ่กว่านั้นควบคู่อยู่ด้วย เช่น อยากเห็นลูกทำอาชีพอะไร อยากเห็นลูกมีความสามารถด้านไหน หรืออยากเห็นลูกดูแลครอบครัวได้ ฯลฯ

นอกจากเรื่องความคาดหวังแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องความคิดความเชื่อเฉพาะตัวของแต่ละคน ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้อย่างง่ายดาย

“เรามีความคิดความเชื่อของเราต่อเรื่องราวต่างๆ ว่าอะไรควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ในกรณีของสามีภรรยา อาจจะเลือกมาอยู่ด้วยกัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกหรือพี่กับน้อง เราไม่ได้เลือก จู่ๆ เราก็เกิดมาในบ้านหลังนี้ ในครอบครัวนี้ แต่เรามีชุดความคิดความเชื่อต่อเรื่องราวต่างๆ ต่างกัน รับมาจากครอบครัวบ้าง หรือแนวทางการเติบโตทางสังคมของเราเองบ้าง”

ชุดความเชื่อเหล่านี้สุดท้ายจะกลายมาเป็นข้อเท็จจริงของชีวิต เรามักจะเอาความเชื่อของเราไปตัดสินคนอื่น ทั้งที่ในความจริงแล้วความเชื่อของเราไม่อาจใช้ได้กับทุกคน

แน่นอนว่าเมื่อเราเอาชุดความเชื่อของเรามาเป็นหลักในการใช้ชีวิตย่อมกระทบในความสัมพันธ์ ไม่เว้นแม้แต่กับคนในครอบครัว

หลายคนบอกว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้น เป็นความสัมพันธ์แบบ love-hate relationship รักกัน แต่บางครั้งก็ดูอยู่ด้วยกันดีๆ ยากเหลือเกิน

มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การถกเถียงหรือต่อสู้กับแบบทั่วๆ ไป ในครอบครัว เช่น ในพี่น้อง หรือพ่อแม่กับลูก ถ้าสามารถระบุสาเหตุทางจิตใจได้ว่าโกรธเพราะอะไร มีความสุขเพราะอะไร เด็กจะเรียนรู้อารมณ์และสภาวะจิตใจของตนเองและผู้อื่นได้ การพูดคุยเรื่องความรู้สึกจึงสำคัญ ที่สำคัญคือ ต้องเกิดจากพูดคุยอย่างเท่าเทียมกัน มากกว่าการที่พ่อแม่ชี้ว่าอะไรถูกหรือผิด

การสร้างความไว้ใจระหว่างผู้ปกครองกับลูกตั้งแต่เด็ก จะช่วยสร้างความมั่นใจและรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ได้อย่างดี

ความผูกพันของเด็กกับคนที่ดูแลเด็กใกล้ชิดที่สุด มีส่วนสำคัญมากกับพัฒนาการทางจิตวิทยา ซึ่งความผูกพันที่มั่นคง ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะสำรวจสิ่งใหม่ ค่อยๆ เพิ่มความเป็นอิสระของตัวเอง แล้วลูกก็จะค่อยๆ ออกห่างไป

พ่อแม่กลายเป็นผู้มองอยู่ไกลขึ้นให้เด็กๆ ทำอะไรด้วยตัวเอง ระหว่างนั้น บทบาทของพ่อแม่ กลายเป็นการฝึกตัวเองใหม่ จัดการกับความคาดหวังของเราผู้ใหญ่ให้เหมาะสม

แม้เราจะเข้าใจว่าทุกคนอาจมีความหวังดีต่อกัน และมีชุดความคิดความเชื่อต่างกัน แต่เมื่อมีลูกของตัวเอง การจัดการอำนาจ กลับไม่ใช่เรื่องง่ายนัก คุณโอ๋ให้วิธีคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เราต้องมองลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

“ตั้งแต่ลูกเกิดมา เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง พอเราฟังว่าความต้องการของเขาคืออะไร เขาชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วเราก็สื่อสารว่าเราให้ได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร สิ่งนี้จะทำให้ค่อยๆ เห็นเส้นของความเป็นตัวเรากับตัวเขาที่แยกจากกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วในเด็กเล็ก ด้วยความเปราะบางของลูก พ่อแม่ก็จะคิดว่าลูกก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวฉัน แล้วก็อาจลืมไปว่าเขาก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่แยกห่างจากเรา

“เราเริ่มฝึกได้ตั้งแต่เขาเด็กมากๆ ค่ะ ด้วยการรับฟัง การคุยกัน แล้วก็อาจมีข้อพึงตระหนักที่ว่า ลูกไม่ได้เกิดมาเพื่อชดเชย หรือทำอะไรแทนเรา เขาเป็นอีกหนึ่งชีวิต ที่มีชีวิตของเขา”

สำหรับหลายคนแล้ว อาจไม่ง่ายที่วางเส้นแบ่งระหว่างตัวเองกับลูกได้อย่างชัดเจน และยิ่งเมื่อลูกเติบโตขึ้น พ่อแม่ก็แอบมีความหวังว่าเขาจะเติบโตไปในเส้นทางที่ดีในสายตาพ่อแม่ ปัญหาสำคัญคือ แล้วพ่อแม่มีสิทธิ์ข้ามเส้นเข้าไปจัดแจงชีวิตลูกได้แค่ไหน คุณโอ๋ เรียกเส้นนี้ว่า ‘เส้นทรมานใจ’

“ยกตัวอย่างระหว่างตัวเองกับลูกสาววัยรุ่น ตอนเด็กๆ เราโตมาแบบไม่มีโซเชียลมีเดีย ดังนั้นจึงอยู่แต่กับหนังสือและดูหนัง เราก็จะเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับลูกเรานะ เพราะเคยช่วยชีวิตเราไว้ เราเติบโตมากับรูปแบบวิธีการแบบนี้ เราก็อดไม่ได้ที่อยากให้ลูกทำ ซึ่งนี่แหละเป็นเส้นทรมานใจของพ่อแม่

“หรือบางเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เคยทำได้ แต่เป็นความปรารถนาลึกๆ ที่อยากเห็นตัวเองทำเรื่องนี้ได้ เช่น เราไม่ได้เรียนศิลปะหรือวาดภาพ พอเห็นลูกทำได้ ก็จะมีความ ‘ใส่แรง’ อยากให้เขาทำแทนเราไปด้วย แต่เราต้องรู้ที่มาว่าทำไมเราถึงปลื้มมากเวลาเห็นลูกอ่านหนังสือหรือวาดรูป การที่พ่อแม่รู้ว่าทำไมเราถึงอยากให้เขาทำหรือไม่ทำอะไรสำคัญมาก

เพราะถ้าไม่รู้ เราก็จะมีเหตุผลสารพันในการบอกว่าสิ่งไหนใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งจริงๆแล้วอาจไม่สมเหตุสมผล”

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะไม่สามารถคาดหวังกับลูกได้ เพียงแต่ต้องประเมินดูว่า ความคาดหวังนั้นสอดคล้องกับความจริงแค่ไหน ลูกสนใจแค่ไหน ถ้าความหวังตรงกับข้อเท็จจริง คุณโอ๋กล่าวว่า

“เราเรียกความคาดหวังนั้นว่าเป็นเป้าหมายได้ การกระจายอำนาจในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพและทุกคนมีความสุข คือการใช้ความพอดีในการคาดหวัง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละครอบครัวอาจต้องไปหาสูตรที่ลงตัวของตัวเอง หาสถานการณ์ที่ ‘วิน-วิน’ ให้ได้”

สิ่งที่ใหญ่กว่าความเป็นครอบครัวหรือความเป็นพ่อแม่ลูก คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เพราะครอบครัวที่หลากหลายเกิดขึ้นมากในสังคมโลก ซึ่งไม่อาจใช้โครงสร้างเชิงอำนาจแบบเดิม หรือความหมายแบบเดิมของครอบครัวเข้าไปนิยามได้ ครอบครัวไม่ได้หมายถึงพ่อแม่และลูก เรามีครอบครัวของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำงานและมีเด็กๆ อยู่กับปู่ย่า ครอบครัวที่มีลุงป้าน้าอาทำหน้าที่ดูแลหลาน มีครอบครัวของพ่อแม่เพศเดียวกัน และอื่นๆอีกมากมาย

คุณโอ๋ปิดท้ายว่า “ทำอย่างไรที่เราจะมองเห็น หรือมีที่ทางของความสัมพันธ์ให้กว้างไกลไปกว่าแค่บทบาทในครอบครัว แต่เป็นบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ สังคมในอนาคตอาจจะต้องสร้างความตระหนักที่จะมีที่ทางในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ และอยู่อย่างเคารพกันให้ได้”

อ้างอิง

จิตวิทยา ความรู้ฉบับพกพา (Psychology : A Very Short Introduction) Gillian Butler, Freda McManus เขียน / ณัฐสุดา เต้พันธ์ แปล

จิตวิทยาเด็ก ความรู้ฉบับพกพา (Child Psychology : A Very Short Introduction) Usha Goswami เขียน / สุภลักษณ์ ลวดลาย, วรัญญู กองชัยมงคล แปล

Bowlby, J. (1951). Maternal Care and Mental Health. World Health Organization Monograph Series №2.
การแลกเปลี่ยน“เปลี่ยนมุมคิด สะกิดการเปลี่ยนแปลง: เพศสภาวะ เพศวิถี และความเป็น
ธรรมทางสังคม” ภายใต้โครงการ Young Feminist Thailand รุ่น 2
​การศึกษา​ของผู้หญิง​ ตัวตนและพื้นที่ความรู้​ รศ.ดร.นงเยาว์​ เนาวรัตน์

https://prachatai.com/journal/2018/08/78351

สัมภาษณ์ วริสรา มีภาษณี วิทยากรด้านการสื่อสารอย่างสันติ

Flock — พ่อแม่และนักสร้างการเรียนรู้ ที่ชวนพ่อแม่มาเรียนรู้ไปด้วยกันกับเด็กๆ ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

https://www.facebook.com/Flocklearning/

--

--

Flocklearning

พ่อแม่และนักสร้างการเรียนรู้ ที่ชวนพ่อแม่มาสร้างการเรียนรู้ให้กับตัวเองและเด็กๆในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง