ฝึก Literacy skill ให้เด็ก

Flocklearning
5 min readFeb 18, 2020

คุยกับเกื้อกมล นิยม ถึงการสร้างระบบคิดผ่านการอ่านหนังสือ

เมื่อพูดถึงหนังสือสำหรับเด็ก เชื่อว่าหลายคนจะต้องนึกถึงคุณเกื้อ — เกื้อกมล นิยม นักแต่งนิทาน กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร โรงเรียนรุ่งอรุณ คุณเกื้อทำงานหนังสือเด็กๆ และทำงานให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการอ่านมาหลายปี การพูดคุยกับคุณเกื้อทำให้เห็นว่า หนังสือ ไม่ได้สร้างเพียงความรู้ ไม่ได้สำคัญแค่การอ่านออกเขียนได้ แต่เป็นการประกอบร่างของระบบสมอง ระบบคิด การเรียนรู้ที่จะเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่มากไปกว่าสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า การเข้าใจในตัวเองและผู้คน การมีหัวใจที่จะรับมือกับปัญหา ซึ่งสามารถพาเด็กๆ รวมถึงเราผู้ใหญ่ ไปได้ถึง ‘ความสุขของชีวิต’

เข้าประเด็นเลย เราจะเลือกหนังสือแบบไหนให้ลูกดี หนังสือเด็กแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นหนังสือเด็กที่ดี ?

หนังสือเด็กในที่นี้ เราพูดถึงหนังสือภาพก่อนนะ หนังสือที่ดีสำหรับเราเป็นหนังสือที่เว้นพื้นที่ให้เด็กทำงาน มันไม่บอกหมด และภาพจะทำอะไรเยอะมาก ตัวหนังสือมี แต่ภาพจะทำงานมากไปกว่านั้น ถ้าตัวหนังสือทำอะไร แล้วภาพบอกเท่ากัน แปลว่ามันไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้เด็กทำงาน พอไม่เหลือพื้นที่ เด็กจะกลายเป็นแค่ผู้เสพอย่างเดียว เป็นผู้เสพอย่างเดียวมันง่าย แล้วเด็กก็ชอบ แต่ความเป็นผู้เสพ จะชอบอยู่แป๊บเดียว เพราะว่าไม่ท้าทาย สักพักเขาก็จะไม่อยากฟังแล้ว

การเป็นผู้เสพอย่างเดียว มันไม่ฝึก Literacy skill ให้เด็ก ซึ่งเป็นการอ่านอย่างเข้าใจขั้นสูง อันนี้หมอประเสริฐพูดบ่อย แต่พ่อแม่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร Literacy skill คือการที่เราสามารถอ่านแล้วตีความได้ เข้าใจได้ ถ้าเป็นการอ่านหนังสือภาพ คือเด็กๆ ควรจะตีความภาพเป็น สร้างภาพในหัวต่อได้ เข้าไปอยู่เป็นเนื้อเดียวกับตัวละคร เข้าไปอยู่ในเรื่องได้ แบบนี้เด็กๆ จะสนุกเหนือไปกว่าเป็นผู้เสพ คือมีความสนุกจากการเป็นผู้สร้าง ซึ่งทำให้เขามีทักษะที่จะตีความอย่างอื่นที่ยากขึ้นไปอีก เวลาเราพูดถึงการอ่าน เราอยากให้เด็กๆ อ่านวรรณกรรมเมื่อเขาโตขึ้น แต่เด็กจะอ่านวรรณกรรมไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ปูพื้นฐาน ฝึกการตีความมาก่อน

ยกตัวอย่าง มี้จัง เป็นนิทานญี่ปุ่นที่อายุ 50 ปีแล้ว เล่าถึงเด็กผู้หญิงชื่อมี้จัง ที่ต้องไปซื้อนมให้น้อง ระหว่างที่คุณแม่กำลังยุ่ง เป็นการออกจากบ้านไปซื้อของคนเดียวเป็นครั้งแรกของเด็ก หนังสือแปลไปทั่วโลก หลายภาษา แล้วเด็กๆ ก็ติดใจ มี้จัง เปิดมาหน้าแรกลูกเราก็อ่านภาพแล้ว เหมือนเด็กกำลังเล่น เป็นแม่ เป็นพี่ ให้นมน้อง เปิดมาอีกหน้า มีคำบอกว่า “วันหนึ่งแม่บอกว่ามี้จังไปซื้อของให้แม่ได้ไหมลูก ไปคนเดียวนะ” “ไปคนเดียวหรอคะ มี้จังกระโดดตัวลอยด้วยความตกใจ” ทีนี้ เมื่อเราดูภาพ มี้จังไม่ได้กระโดดอยู่ ตรงนี้ลูกเราจะต้องสร้างภาพในหัวเองว่ากระโดด แล้วเด็กจะเชื่อมโยงในสมองกับตัวเองทันที ว่าถ้าวันหนึ่ง แม่ให้ไปซื้อของเองคนเดียว เขาก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกัน นี่คือ สมองทำงานแล้ว เด็กถูกฝึกให้เชื่อมโยง ให้คิด เป็นคนจินตนาการต่อได้ นึกภาพพวกเราผู้ใหญ่ อ่านหนังสือวรรณกรรม ไม่มีภาพเลย ภาพในหัวของแต่ละคนก็ต่างกันไปเวลาอ่านเรื่องๆ หนึ่ง คนไหนที่จินตนาการได้ ก็จะอิน จะอ่านหนังสือที่ยากขึ้นได้เรื่อยๆ ซึ่งกับหนังสือวิชาการก็เหมือนกัน เราอินได้ สนุกกับมันได้

หน้าถัดมาของมี้จังบอกว่า ตอนนี้แม่กำลังยุ่ง เขาไม่ได้เขียนว่าแม่ยุ่งยังไง แต่เราเห็นภาพ มีน้ำเดือดอยู่ มีของที่ซื้อมายังไม่ได้ใส่ตู้เย็น มีของยังไม่ได้เก็บล้าง น้องก็ร้องไห้อยู่ มีอะไรอีกหลายอย่างในภาพ เราจะเห็นภาวะที่ลูกเราสงบ แต่สมองเขากำลังประมวลผลว่าเกิดอะไรขึ้น หนังสือภาพที่ดี จะทำงานนี้

หนังสือเด็กที่ดีอีกอย่างคือ จะมีอุปสรรค แล้วให้เด็กข้ามอุปสรรคเอง โดยไม่ได้เป็นทางออกจากผู้ใหญ่

พ่อแม่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับหนังสือภาพ ไม่รู้ว่ามันต้องค่อยๆ ให้เด็กได้มอง พ่อแม่จะช่วยให้ลูกผ่านกระบวนการแบบนี้ได้ยังไงบ้าง ?

ให้พ่อแม่จำไว้ว่าเราเป็นแค่เครื่องเล่านิทาน เล่าเฉยๆ ไม่ต้องชี้ชวน แค่เล่าตามตัวหนังสือ แล้วให้เด็กได้ดู เปิดแต่ละหน้านานๆ หน่อย ไม่ต้องเล่าหวือหวา เราทำงานที่โรงเรียนรุ่งอรุณก็บอกครูที่สอนอนุบาลเลยว่า อย่างหนึ่งที่จะวัดได้ว่าเด็กอยู่กับหนังสือหรือเด็กอยู่กับเราก็คือ ตราบใดที่เด็กยังมองหนังสืออยู่ คือโอเค แต่ถ้าเด็กหันมามองคุณ แปลว่าเราเล่นใหญ่เกินไป ให้เด็กมีหนังสือเป็นหลัก มีเสียงเราเป็นแบ็กกราวน์ เท่านี้ พอแล้ว

การทำให้เด็กๆอยู่กับหนังสือ และเห็นภาพสำคัญยังไง ?

ยุคเรา พวกเราไม่ได้เติบโตมากับหนังสือภาพ เราผู้ใหญ่เสียโอกาสนี้ไป เราโฟกัสตัวหนังสือก่อนเพราะเราอ่านมันออก เราอย่าให้ลูกเราเสียโอกาส เด็กเล็ก เขาเข้าใจภาพได้ เขาก็จะอ่านภาพ และเขาจะเห็นตัวหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของภาพ เขาไม่รู้หรอกว่านี่คือตัวหนังสือ พอเขาเริ่มโต จะค่อยๆ รู้ ว่าพ่อแม่อ่านอะไรสักอย่าง อ๋อ แม่อ่านตัวหนังสือ มันเป็นภาษาที่ลงมาอยู่บนกระดาษได้ ส่งต่อคนอื่นได้ อ่านกี่ครั้งก็คำเดิม เด็กๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่องตัวหนังสือ เรื่องภาษาเอง

เด็กๆ เขาจะชอบกลับมาหาเรื่องที่มีอิทธิพลกับเขา อย่างเราประทับใจมี้จังมาก และน่าจะเหมือนกับเด็กทั่วโลก มันประทับใจเพราะอุปสรรคมันเยอะ มันลุ้น แล้วเด็กๆ ก็เหมือนผู้ใหญ่ พอเขาข้ามอุปสรรคได้ เขาลุ้นแล้วก็ภูมิใจว่า เอ๊ย ทำได้ อ่านจบก็จะอยากออกไปซื้อนม ซื้อขนมปัง ขอแม่ว่าออกไปซื้อเองได้ไหม

และเราคิดว่า ผู้เขียนทำดีมากที่วาดแสดงอาการมี้จังได้ชัด เช่น มี้จังกำเหรียญเดินไปอย่างมีท่าทีตื่นเต้นและมุ่งมั่น เด็กเห็นภาพก็จะเชื่อมโยงได้เลย ว่าเวลาเขาตั้งใจ และตื่นเต้นนิดๆ มันจะเป็นประมาณนี้แหละ อีกอย่างที่ทำให้หนังสือดีสำหรับเด็ก คือเรื่องความรักระหว่างแม่กับลูก ในเรื่อง เราจะเห็นว่าแม่เป็นห่วงเป็นใยมากนะ แต่ก็เปิดโอกาสให้ลูกเผชิญกับปัญหา ตอนจะจบแม่กับน้องก็เดินออกมารอรับ เราเห็นว่าเขารักเขาห่วง แล้วเดินกลับบ้านด้วยกัน ทำแผลให้ เด็กเห็น ก็เชื่อมโยงกับตัวเองได้เลยทันที

เราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกเห็นแบบนี้ไหม ?

เมื่อลูกกลับมาที่เรื่องนี้อีก พ่อแม่ลองสังเกตว่าเขากลับมาดูอะไร พอหลายครั้ง เราอาจลองถาม เช่น หนูคิดว่าหน้านี้มี้จังรู้สึกยังไง หรือ หนูชอบหน้าไหนบ้าง ลองเล่าให้แม่ฟังหน่อย ทำไมชอบ เราก็จะรู้แล้วว่าเขาเห็นอะไร แต่อย่าไปซีเรียส เด็กเล็ก บางทีเขายังไม่มีภาษาที่จะอธิบาย พ่อแม่จะชอบมาบ่น “ลูกให้อ่านเรื่องนี้มาเดือนหนึ่งแล้วค่ะ เบื่อมากกก” อันนี้คือ แสดงว่าหนังสือทำงานบางอย่างกับเขา หนังสือแต่ละเล่ม มีรายละเอียดเยอะมาก เด็กเขาเห็นแล้วแต่ยังปะติดปะต่อมันไม่ได้ เขาเลยอยากเห็นอีก ได้ยินอีก ได้ลองมีประสบการณ์อีก แล้วในแต่ละเรื่อง แต่ละเล่ม เด็กแต่ละคนก็จะเชื่อมโยงไปได้ไม่เหมือนกัน แต่เขาจะได้ทำงาน

ลองดูหน้าที่มี้จังไปเจอเพื่อน โทโมะจังถามว่ามี้จังกำลังไปไหน มี้จังบอกว่า ไปซื้อของ แม่ให้ไปซื้อนม โทโมะจังก็ถามว่า ไปคนเดียวหรอ “ใช่ ไปคนเดียว” “ฮ้า” แล้วโทโมะจังตัวใหญ่กว่าด้วย จุดนี้ เราจะรู้เลยว่า มี้จังภูมิใจมาก เขาได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เด็กทุกคนต้องการ อยากเป็นผู้ใหญ่ อยากโต เด็กก็จะฟินเป็นระยะๆ (หัวเราะ) รู้สึกถึงการรับผิดชอบ ดูแลตัวเองได้ ซึ่งเป็นคุณค่าที่หนังสือบอก

แทนที่จะบอกให้เด็กต้องรับผิดชอบ แต่มันไปที่ประเด็นเลย ว่าถ้าคุณรับผิดชอบ คุณจะภูมิใจในตัวเอง แล้วความภูมิใจในตัวเองรู้สึกยังไง รู้สึกแบบนี้ไง

แล้วแมวที่เราเห็นอยู่หน้านี้ ไปอีกหน้า มีป้ายประกาศแมวหาย แล้วในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น เขาเขียนเป็นเบอร์โทรสำนักพิมพ์ไว้ ก็มีเด็กหลายคนโทรมา บอกว่า แมวอยู่หน้านี้นะคะ หรืออีกหน้า บอกว่ามีสอนวาดรูปโดยครูอากิโกะ พอมาอีกหน้า ก็จะมีเด็กหาเจอ ซึ่งผู้ใหญ่ แทบหาไม่เจอเลย ซึ่งไม่ได้หมายถึงหนังสือภาพต้องเป็นสไตล์นี้ทุกเล่ม ตราบใดที่มีงานให้เด็กทำ ถือว่าดี แต่ผู้ใหญ่จะมองข้าม มองไม่เห็น

ตัวอย่างหนังสือสำนักพิมพ์สานอักษร

เด็กๆ มีงานแล้ว งานผู้ใหญ่ล่ะ ควรทำอะไร ?

ไม่ต้องทำอะไรเลย มนุษย์เกิดมามีเซนส์เหล่านี้ แต่มันค่อยๆ ถูกทำให้หายไป เราชินชา โลกมันไม่ใหม่สดเสมอสำหรับเรา แต่กับเด็กๆ ไม่ใช่ มันเป็นสัญชาตญาณของการเรียนรู้ ที่เด็กจะรู้จักโลก แต่ขัดธรรมชาติพ่อแม่และครูมากที่จะห้ามตัวเองให้ไม่ต้องชี้ เราต้องมีสติค่ะ (หัวเราะ) เราเคยไปอบรมให้ครู ต้องคอยบอกว่า ขอให้คุณครูทำใจ และยับยั้งตัวเอง ไม่ให้เล่นใหญ่ อย่าเผลออธิบาย อย่าเล่าโยงไปบทเรียน อย่าโยงไปสอนอะไร อย่าไปสรุปอะไร ไม่ต้องทำเลย นี่คือสิ่งที่เราต้องให้สมองเด็กทำงานเอง “ไว้ใจเด็ก ไว้ใจหนังสือ ว่ามันจะทำงานจริงๆ” และถ้ายังไม่ไว้ใจ ให้ลองเช็คว่า ลูกกลับมาที่หนังสือไหม ถ้ากลับมาอีก หรือ มีคำถาม หรือคำตอบอะไรไหม แค่นี้ก็พอแล้ว

ไม่ต้องบอกว่าหนังสือสอนอะไร ?

ใช่ อีกอย่างคือ เราต้องวางความคาดหวังของเราไว้ก่อน เราคาดหวัง และจะคิดเผื่อ ว่าเด็กจะต้องได้อะไร ซึ่งบางทีสิ่งที่เราคิดก็อาจไม่ถูก และเวลาที่เด็กเห็นหนังสือ เด็กสนใจว่า หนังสือเล่ายังไง สนุกยังไง ไม่ใช่ว่า หนังสือให้อะไร อยากชวนผู้ใหญ่โฟกัสแบบนั้นบ้าง ว่าหนังสือเล่ายังไง สนุกยังไง พอพ่อแม่ซื้อหนังสือมาแล้วลองอ่านเองก่อนก็ได้ เวลาที่เราอ่านจะได้ลื่นไหล ลองดูภาพก่อนก็ได้ แต่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องค้นพบทุกอย่างในภาพ หน้าที่นั้น เป็นหน้าที่ของลูก เรารอให้ลูกบอกเราดีกว่า เราสายตาไม่ดีเท่าเด็ก

คุณเกื้อ-เกื้อกมล นิยม

เราน่าจะพาเด็กไปชี้หนังสือที่เขาอยากอ่านเองไหม ?

ดี ดีมาก ก็ไว้ใจนั่นแหละ ไว้ใจได้แค่ไหน ตอบไม่ได้จริงๆ แต่ว่า ไว้ใจเถอะ เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขามีทางของเขาที่จะเติบโต มองโลก หรือเลือกอะไรในแบบของเขาเอง ซึ่งแต่ละคนก็จะไปเชื่อมโยง เติบโต Go through life ด้วยเรื่องอะไร

อ่านจากแท็ปเล็ตได้ไหม ?

ผลจะต่างกันนะ เด็กเล็ก ไม่มีมิติเรื่องเวลา เรื่องอะไรมาก่อนหลัง แต่พอเป็นหนังสือเล่ม มันมีวัตถุให้จับ เป็นใบๆ พลิกได้ อันนี้มาก่อนอีกอัน แต่ไอแพด มันมีหน้าเดียว แม้จะใช้นิ้วสไลด์ แต่มันคือจออันเดิม ก้อนอันเดิม เรื่องนี้ก็ทำให้เด็กเสียการเรียนรู้ไป มันทำให้การลำดับเรื่องเล่า ลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ของเด็ก ไม่ฝังแน่นเท่าการเปิดจากหนังสือจริงที่จับต้องได้ก่อน และหนังสือมีหลายขนาด แต่ไอแพดมีขนาดเดียว ซึ่งขนาดก็มีผลต่อการเรียนรู้ หนังสือมันจะทำให้เราเห็นฉากทั้งหมด บางเรื่อง มันต้องการขนาดที่ใหญ่พอ แต่เมื่อถูกจำกัดให้มีขนาดเท่าไอแพด มันจะทำให้รายละเอียดถูกละเลย

ถ้าจะบอกว่าหนังสือแพง เราว่ายุคนี้ไม่ยากนะ เช่น พ่อแม่เล่นไลน์ มีกรุ๊ปไลน์พ่อแม่กันอยู่แล้ว เราแลกหนังสือกันอ่านก็ได้ ก็ไม่ต้องซื้อเยอะ

แล้วเมื่อไรที่เด็กควรไปถึงตัวคำ ตัวหนังสือแล้ว ?

ไม่เชิงเป็นช่วงวัย มันเป็นเรื่องความชำนาญทาง Literacy ของเด็ก ซึ่งแต่ละคนมาไม่พร้อมกัน สะสมมาไม่เท่ากัน เช่น เด็กอยู่ในบ้านที่มีการพูดคุยกัน มีการอธิบาย คุยกันยาวๆ มีประโยคสื่อสารหลากหลาย มีการถกเถียง หรือพูดคุยจริงจัง เด็กก็จะมีคลังคำ มีภาษาที่รุ่มรวยมาก และมีวิธีคิด เมื่อก่อนสังคมเราเป็นครอบครัวใหญ่ มีคนหลายรุ่น คนเยอะ เราจะมีข้อได้เปรียบทางภาษา แต่สังคมยุคใหม่ ที่ครอบครัวเล็กลง ใช้เวลาด้วยกันไม่มาก พูดคุยกันน้อย เราก็ใช้หนังสือเป็นสื่อ ประโยคที่ใช้ในหนังสือ มันมีที่มาที่ไป มีการลำดับเรื่องราว เด็กจะได้สะสมคลังคำ และวิธีสนทนา

มันมีหนังสือตามวัย แต่มันไม่ต้องกำหนดตายตัว และถ้าเป็นเด็กที่พ่อแม่พาอ่านมาตั้งแต่เล็ก พอสัก 4–5 ขวบ เขาจะกระหายมาก และอ่านโรอัล ดาห์ลให้ฟังได้แล้วนะ เรื่องซับซ้อน ไม่มีภาพ แต่เขาต้องการแล้ว และเขาก็จะกลับมาอ่านหนังสือเด็กอีก กระทั่งเด็กประถมหลายคน ชอบอ่านหนังสือเล่มๆ แล้ว ก็ยังชอบกลับมาอ่านหนังสือเด็กอีก ก็แล้วแต่เขา

สมองเด็ก ต้องการเรื่องราวที่ยากกว่าศักยภาพในการอ่านของเขา เด็กที่อ่านเก่ง บางคน 5 ขวบ อาจจะอ่านคำ กา อา ที่ไม่มีตัวสะกดได้ แต่เรื่องราวที่เขาต้องการ ที่เขาจะสนุก มันยากกว่าคำเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องอ่านให้ฟังไปก่อน กว่าเด็กๆ จะอ่านเองได้ อาจจะประมาณ 8 ขวบ และอ่านแบบสบายคล่องครบอรรถรสด้วยตัวเอง ก็อาจจะ 10 ขวบ

หนังสือขาวดำ เด็กๆก็สนุกได้

ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือ จะทำให้ลูกรักการอ่านยังไงดี ?

อ่านให้ลูกฟังไปเรื่อยๆ ค่ะ พ่อแม่ก็ต้องขยันมากขึ้น ต้องนับว่านี่เป็นอาหารสมอง แม้เราจะไม่ชอบทำกับข้าว เราก็ต้องทำอาหารให้ลูกกิน การเติบโตทางสมองก็เหมือนกัน มันเป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุดแล้ว ถ้าคุณไม่มีเวลาเล่นกับลูก กลับมาจากงานก็เหนื่อยแล้ว ลูกก็จะหลับอยู่แล้ว ก็เอาเวลาตอนนั้นแหละ ตัวแนบกัน อยู่กอดกัน อยู่บนตัก ถ้าไม่มีเวลาจริงๆ ก็ขอแค่ 15–30 นาที ต่อคืน แต่ขอให้ทำสม่ำเสมอ เราจะได้ทั้งเรื่องสายสัมพันธ์ ได้ทั้งความรู้สึกสงบของพ่อแม่เอง ซึ่งมันจะช่วยให้เด็กได้รับรู้ความรัก และทำให้สมองทำงานดี และได้ประโยชน์เรื่องเรียนรู้จากการอ่าน

การอ่านลักษณะนี้ พอเข้าไปในโรงเรียน มันหายไปไหม ?

ตราบใดที่เรายังประเมินผลวิชาภาษาไทย ด้วยการดูว่าเด็กอ่านเขียน สะกดได้ถูกต้อง ต้องเขียนสวย มันก็จบ เราเจอเด็กที่เราไปอ่านนิทานให้ฟัง อยู่กัน 2 คน อ่านแค่หน้าเดียว เด็กดึงนิทานไปเลย โชว์อ่านออกเสียงให้ฟัง อ่านทั้งเล่มเลย อ่านถูกออกเสียงทุกอย่างถูกหมด เราถามว่า เหตุการณ์ในหนังสือคือเกิดอะไรขึ้นนะ เด็กตอบไม่ได้ คือโฟกัสผู้ใหญ่มันไปอยู่ที่ตรงนั้น ซึ่งไม่ใช่หัวใจของภาษา หัวใจของภาษา คือการสื่อสาร เด็กเล็ก ถ้าเราจะฝึกเขาให้อ่านสะกดอะไรได้ถูกต้อง จริงๆ เขาทำได้นะ แต่ว่า สมองจะหมดไปกับการทำเรื่องเหล่านี้ ไม่เหลือสำหรับทำความเข้าใจกับเรื่อง ไม่เหลือสำหรับค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ และที่จะหมดไปเลยคือ ความสนุก เด็กจะรู้สึกว่าภาษาเป็นยาขม หนังสือเป็นยาขม เราทำแบบนี้ตั้งแต่แรก เราจะเสียโอกาสไปหลายอย่าง ซึ่งอย่างน้อยที่สุด คือ การตีความโลก ตีความภาพ ซึ่งผลที่ได้ยิ่งใหญ่กว่าการอ่านออกมาก

ตอนนี้ที่มีการต่อสู้กันเยอะ คือการสอบเข้าป.1 มันซีเรียสเพราะว่าถ้าเรายังวัดผลเด็กๆ แบบนี้ เด็กก็ต้องมาหัดนั่งสะกด นั่งเขียนตั้งแต่อนุบาล ซึ่งมันทรมานนะ พ่อแม่ก็ทรมาน ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน หลายประเทศจะตกใจเลยนะ การพยายามสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่อนุบาลนี่รุนแรงคล้ายการทำร้ายร่างกายเลย

และถ้าอยากจะฝึกลูกสอบเข้าป.1 จริงๆ เราก็น่าจะทำให้เขาเห็นมุมของความสุข ความสนุก การตีความต่างๆ ที่เขาจะได้รับจากหนังสือด้วย ไม่งั้น เราก็จะได้เด็กๆ ที่อ่านเพื่อสอบ แล้วก็จบ ในหนังสือ Read aloud handbook คนเขียนก็จิกกัด เรื่องเด็กอ่านบัตรคำ แสบมาก เขาบอกว่ามีคนที่ชอบใช้บัตรคำสอนเด็กอ่าน แรกๆ เด็กก็ชอบ เพราะเป็นเกมที่เพิ่งเล่น เล่นได้ก็ภูมิใจ แต่ได้แป๊บเดียว เพราะมันใช้ความจำ การที่เราชูบัตรขึ้นมา แล้วให้หมาเห่า หมาก็ทำได้ ว่าถ้าชูใบไหนให้เห่ากี่ครั้ง แต่มันเป็นคนละเรื่องกับความหมายของคำ ความหมายมันไม่ประทับลงไปในใจ แต่เวลาอ่านหนังสือกับเด็ก ความหมายของคำมันมาพร้อมเรื่องราว อารมณ์ ฯลฯ มันลึกซึ้งกว่า และทำให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ที่ตีความโลกได้ลึกซึ้งกว่า คุณจะให้ลูกเห่า หรือให้ลูกอ่าน — แสบเนอะ

อีกเรื่องนึง เขาเล่าว่า การอ่านได้เร็ว อ่านออกเขียนได้ได้เร็ว ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดี นึกภาพว่าเรามีปาร์ตี้ แล้วแขกมาถึงก่อนเวลาชั่วโมงนึง มันดีไหม ก็ทำได้ แต่มันไม่จำเป็นเลย

ถ้าลูกเรา 7–8 ขวบแล้ว ไม่ได้อ่านให้ฟัง ดูแลแบบนี้มาก่อนเลย ทำตอนนี้ทันไหม ?

ทัน แต่ถ้าเขาโตมากับเทคโนโลยีมาก สมองเขาเป็นผู้เสพ ไม่ใช่การทำงานร่วม เพราะในเทคโนโลยี ภาพมันเกิดขึ้นเร็วมาก เขาจะไม่มีทักษะการอ่านภาพ อ่านร่วม ตีความไปกับหนังสือ และก็จะไม่มีทักษะการรอ การอดทน ถ้าจะเริ่ม ต้องหาช่องเข้าดีๆ ว่าเขาสนใจเรื่องไหนยังไง ช่วงแรกจะยาก เพราะเขาไม่รู้สึกว่ามันสนุก เหมือนคนไม่เคยกินอะไรแบบนี้มาก่อน มันกินไม่เป็น ไม่รู้สึกว่ามันมีอะไร ไม่รู้ว่าเสพอย่างไร สมองจะสนุกกับมันได้ยังไง หนังสือมันจะสนุกที่สุด เมื่อมันแสดงเรื่องราวออกมาให้เราได้รับชมรับฟัง แล้วเราได้ตีความไปด้วย ผู้ใหญ่ก็จะต้องช่วย อ่านไปกับเขา

เราควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังถึงเมื่อไร ?

อ่านได้จนถึงมัธยมเลยนะ ผู้ใหญ่มีประสบการณ์การอ่านการตีความดีกว่าเด็กอยู่แล้ว แล้วพอลูกเป็นวัยรุ่น เขาไม่ฟังผู้ใหญ่แล้ว แต่เรายังอ่านหนังสือด้วยกันได้ อ่านเรื่องที่น่าสนใจหลากหลายลอยๆ ให้ฟังระหว่างล้างจานก็ยังได้

ถ้าพ่อแม่ลูกอ่านแล้วความเห็นไม่ตรงกัน ?

ผู้ใหญ่มักจะชินกับคำตอบที่ถูกคำตอบเดียว ตีความออกมาต้องตีความแบบเดียว ชวนพ่อแม่คิดอย่างนี้ ถ้าเห็นว่าลูกได้ตีความแล้ว ถือว่าโอเคแล้ว ประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับ มันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรารู้สึกว่า คำตอบแปลก เราก็อาจจะชวนถามว่าทำไมหนูคิดแบบนี้หรอ เล่าให้ฟังหน่อย คุยต่อเรื่อยๆ ได้ จนถ้าเห็นเขาไม่สนใจ หรืออยากคุยเรื่องอื่นแล้ว ก็พอ เราปล่อยให้เด็กนำการคุย เราแค่หยอดคำถาม

พ่อแม่กลัวไหมว่าเด็กๆ จะทำตามตัวอย่างที่เจอในหนังสือ เช่นมาทิลดาที่ทำลายบ้านครูใหญ่ อะไรแบบนี้ ?

อย่าดูถูกลูก เด็กรู้ว่าอะไรถูกหรือผิดนะ ไม่เคยไม่รู้เลย แต่ที่ทำ เขาท้าทายอำนาจอยู่ เขาอยากรู้ว่าลิมิตของเขาคืออะไร เขารู้อยู่แล้วว่าการทำอะไรคือความสูญเสีย เสียหาย ความเจ็บปวด ซึ่งเขาอาจจะทำ เมื่อเขาต้องการโต้กลับเมื่อถูกกระทำความรุนแรงจริงๆ หรือเขาไม่ได้รับความรักพอ ไม่ได้รับความสนใจพอ เด็กที่ก้าวร้าวคือเด็กที่ขาดความรักที่สุด

เด็กท้าทายเป็นธรรมชาติ เป็นมาตั้งแต่เกิด สมองส่วน ef มันยังไม่ได้ถูกพัฒนา สิ่งที่จะทำให้มันพัฒนา คือความรัก เราต้องไว้ใจด้วย และหนักแน่นในเรื่องลิมิตด้วย

การอ่าน นับว่าเป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งในโลกยุคนี้ได้ไหม ?

ได้ จริง อย่างแรกคือคุ้มกันใจ ให้มันเข้มแข็ง เราอยู่ในโลกที่ทุกอย่างได้มาอย่างง่ายดาย แล้วนิสัยพ่อแม่ นิสัยคนไทย คือเราชอบบริการ ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ เราเห็นชัดเลยว่า ใน 10 ปี หลังนี้ เด็กๆ มีความอดทนน้อยลงเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างมันถูกป้อนให้เลย อยากได้อะไรก็ได้ ได้ก่อนที่เขาจะอยากได้ ได้ก่อนที่จะขออีก และเด็กๆ ก็ไม่รู้จักการขอ ไม่รู้ด้วยว่าจริงๆ ฉันต้องรอ ต้องดูก่อน ต้องเกรงใจ ไม่ถูกฝึกให้สังเกตด้วยว่า อ๋อ ตอนนี้ครูยุ่งอยู่นะ เราต้องรอ แล้วเดี๋ยวต้องขอ เด็กไม่มีเซนส์พวกนี้เลย เพราะเขาได้รับการตอบสนองทุกอย่างทันที

อีกเรื่อง หนังสือเกือบทุกเล่มในโลกเล่าเรื่องปัญหา เราเป็นผู้ใหญ่โตมา เราก็รู้ว่า เหมือนมีชีวิตเพื่อแก้ปัญหา (หัวเราะ) หนังสือก็เล่าอย่างนั้น

เราต้องเรียนรู้ให้ได้ว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องใหญ่ ปัญหาเป็นเรื่องปกติ หนังสือที่ดี จะนำเสนอเรื่องพวกนี้ อุปสรรคเป็นเรื่องที่ต้องเจอ เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์อีก อะไรอีก แล้วเราต้องอยู่ด้วยใจแบบไหน หนังสือก็จะให้เราเห็นตัวอย่าง การข้ามผ่านอุปสรรค พาเราไปลองเป็นตัวละคร

พร้อมกันนั้น หนังสือจะช่วยบิ๊วเราด้วย เช่น เด็กอ่านมี้จังจบ รู้สึกอยากเป็นผู้ใหญ่ขึ้นทันที อยากพับผ้า ซื้อของให้แม่ อยากช่วยคุณยายจ่ายตลาด ทีนี้ พอบิ๊วขึ้นแล้ว พ่อแม่ต้องช้อนจังหวะนี้ให้ได้ มอบหมายงานให้เด็ก และทำอย่างสม่ำเสมอ ชื่นชมเขา ชมให้ถูก ชมอย่างระบุ เช่นหนูมีความพยายามมาก หนูเจอปัญหาแต่หนูพยายามทำ ให้อยู่ที่การกระทำของเขา ไม่ใช่ความสำเร็จ ความสำเร็จมันแค่วินาทีเดียว แต่การกระทำ ความพยายาม ความอดทน เป็นทักษะที่จะติดตัวไป

คุณเกื้อกมลแนะนำการเลือกหนังสือเด็ก ช่วงประถมวัย Golden years ที่แบ่งคร่าวๆ ได้ 3 ระดับ

0–3 ขวบ

ก็จะอ่านหนังสือภาพที่ต้องอาศัยภาพที่เหมือนจริงหน่อย เด็กๆ ยังตายังไม่ค่อยดี เอาแบบชัดๆ แบ็กกราวน์ขาวไปเลยได้ ถ้าตัวละครเป็นเด็ก การจับช้อน แก้วอะไร ก็จับแบบเด็ก ให้ตรงกับความจริงมากที่สุด ภาพที่ตัดทอนมาก มีความกราฟฟิกมาก จะยาก สมองยังไม่สะสมความรู้มากพอที่จะเชื่อมโยงได้ว่า รูปนี้ ถ้าตัดทอนประมาณนี้แล้ว คือเป็นรูปอะไร

เรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือของวัยนี้อาจไม่เป็นเรื่อง แต่เป็นแค่เหตุการณ์ แล้วก็เล่าซ้ำๆ ประโยคซ้ำเดิม เช่นเรื่อง ช่วยเช็ดหน่อยนะ สีสันคอนทราสต์ 2 สี ดีสำหรับเด็กเล็ก ขาวดำเลยยิ่งดี เด็กไม่มีปัญหากับการไม่มีสีนะ เรื่องเล่าแค่ฉากกินข้าว กินแล้วก็หก แบบเด็ก กินหกก็เช็ด เป็นแพทเทิร์นนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งเล่ม แบบนี้ เด็กจะพอเข้าใจเรื่องได้

3–5 ขวบ

วัยนี้แต่ละคน แต่ละจังหวะอายุ เด็กๆ จะต่างกันเยอะ เราดูลูกเรา ว่าเขาพร้อมกินแค่ไหน มันก็จะเริ่มมีเรื่องราว ช่วงนี้จะสนุกมาก เป็นกลอน เป็นเรื่อง เป็นแบบไม่มีคำเลย มีหลากหลาย ภาพก็จะทำงานเยอะมาก มากกว่า 0–3 มันจะเริ่มมีรายละเอียด เริ่มมีความซับซ้อนของอารมณ์ มีปัญหาให้แก้ มีพล็อตเรื่อง มีตัวละคร

5–7 ขวบ

เป็นช่วงอายุที่หนังสือไทยขาดแคลนมาก เป็นหนังสือก่อนไปถึงวรรณกรรม ถ้าถาม ก็จะแนะนำพวกโรอัล ดาห์ล พวกคุณจิ้งจอก fantastic Mr.Fox คนซื่อบื้อ เคราตุ่น เรื่องประมาณนี้ เรื่องมันจะสั้นๆ เป็นบทๆ ไม่เกินสัปดาห์ก็อ่านจบ ห้าสหายผจญภัยก็อ่านได้นะสำหรับเด็กบางคน แต่จะเหมาะกับเด็กที่โตกว่านี้มากกว่า เพราะเรื่องถือว่าค่อนข้างดำเนินเร็ว และมีรายละเอียดหลายอย่างในแต่ละฉาก

Flock — พ่อแม่และนักสร้างการเรียนรู้ที่สนับสนุนเครื่องมือให้พ่อแม่สร้างการเติบโตเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

https://www.facebook.com/Flocklearning/

--

--

Flocklearning

พ่อแม่และนักสร้างการเรียนรู้ ที่ชวนพ่อแม่มาสร้างการเรียนรู้ให้กับตัวเองและเด็กๆในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง