เป็นเรา เป็นลูก เป็นพ่อแม่ที่พบความมหัศจรรย์

Flocklearning
2 min readJan 26, 2020

ในวงคุยพ่อแม่ งาน Parent Relearn Festival มีพ่อแม่ 2 คน ที่เราเชิญมาช่วยอำนวยการคุยประจำวงทั้ง 2 วัน

เต้ง — อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย คุณพ่อของลูกสาววัย 5 ขวบ นั่งล้อมวงคุยบนสนามหญ้า ใน Dad & Mom Coffee Talk

เหล่าคนเป็นพ่อคุยกันวงนึง แม่ๆ อยู่อีกวงนึง เรื่องการเติบโตของตัวเองเมื่อเป็นพ่อ เรื่องการเข้าสู่โลกใหม่ไปกับลูก ไปจนถึง หัวข้อว่า คุณรักลูกแต่ละคนเท่ากันไหม? คำถามนี้พ่อเต้งไม่แสดงความเห็น (เพราะมีลูกสาวคนเดียว) มีคำถามใหม่มาว่า สำหรับเขาแล้วคิดว่า ลูกรักพ่อหรือแม่มากกว่ากัน?

พ่อเต้งคิดไปหนึ่งอึดใจก่อนเล่าสิ่งที่ลูกสาวเคยพูดว่า “รักพ่อเท่ารูเข็ม รักแม่เท่าฟ้า”

พ่อเต้งไม่รู้สึกน้อยใจ เพราะทราบดีว่าลูกรักพ่อแม่เหมือนกัน

“โดยบทบาทในบ้านแล้ว ผมจะเป็นคนแข็งๆ มีระเบียบวินัย ส่วนแม่จะเป็นคนแสดงความรู้สึกเต็มที่ ดังนั้นลูกจะแสดงความรู้สึกกับแม่เป็นหลัก อย่างในสถานการณ์ที่ผมกับภรรยาเถียงกัน ลูกสาวก็จะซัพพอร์ตแม่ หรืออย่างตอนนอนลูกสาวก็จะกอดแม่จนหลับ แต่ผมไม่เคยน้อยใจนะ กลับรู้สึกดีใจที่ลูกเป็นห่วงความรู้สึกของแม่ ทุกวันผมยังสามารถกอดและหอมเขา และทุกคืนพอลูกหลับ เขาก็จะพลิกมากอดผมทุกคืน”

พ่อเต้งเปิดร้านขายหนังสือออนไลน์ที่บ้าน (www.facebook.com/Nalandabookshop) ทำให้ระยะเวลา 4 ปีตั้งแต่ “น้องเทียน” ลูกสาวยังเป็นแบเบาะจนถึงก่อนเข้าโรงเรียน เขารับหน้าที่เป็นคนเลี้ยงลูก ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับลูกสาว ก่อนที่ช่วงเย็นจะเป็นเวลาของคุณแม่

“เราพยายามสร้างริทึ่ม (Rhythm) ให้ลูก เช่น ตอนที่แม่กลับบ้านมาลูกจะใช้เวลากับแม่เต็มที่ จากนั้นพอถึงเวลาเข้านอนลูกจะเดินมาให้ผมเล่านิทานกล่อมนอนให้ฟัง นั่นคือ ลูกจะไม่ติดใครมากกว่าหรือไม่สนใจใครมากกว่า แต่เขาจะได้รับเวลาจากพ่อและแม่ไปพร้อมๆ กันในแต่ละช่วงจังหวะที่ต่างกัน”

พ่อเต้งเป็นนักเล่านิทานของลูก และเป็นนักอ่านตัวยง แน่นอนว่าเขาได้อ่านตำราการเลี้ยงลูกมาหลายขนาน แต่ไม่ว่าจะอ่านมากี่เล่มก็พบว่า การเลี้ยงลูกไม่มีคำตอบสำเร็จรูป

เขาเล่าว่า สภาพแวดล้อมของการเลี้ยงลูกประกอบไปด้วยครอบครัวของแต่ละฝั่ง ซึ่งมีวิธีการเลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน และเป็นวิธีการที่มีคุณค่าคนละชุดกัน โดยที่เขาจะไม่เข้าไปแทรกแซง

“ความรักและความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่าตายายที่มีต่อหลานมันสำคัญมากกว่าเรื่องวิธีการ แม้ว่ามันจะไม่ตรงกับวิธีที่เราเลี้ยงลูกมาก็ตาม ผมยอมรับได้นะ และรู้สึกว่ามันมีประโยชน์มากกว่าที่เราจะตึงตลอดเวลา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความรักที่ลูกได้รับ ส่วนวิธีการมันอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ไม่เป็นไร”

ถามพ่อเต้งต่อว่า การมีลูกคนเดียว เคยกังวลไหมว่าโลกทั้งใบของลูกจะมีแค่พ่อกับแม่

“ไม่เลย เค้าเป็นคนที่ไว้ใจโลก” ทัศนคตินี้เกิดขึ้นจากการที่พ่อเต้งพาลูกออกเดินทางตั้งแต่เด็ก พยายามทำให้ลูกรู้สึกว่า โลกใบนี้ปลอดภัย ฉะนั้นเขาจะสามารถอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

“ไม่ใช่โลกนี้มันจะมีแต่เรื่องดีๆ หรอก แต่เราพยายามพาลูกออกไปอยู่ในสังคมที่ดีและปลอดภัย สังคมที่ทำให้ลูกรู้สึกไว้วางใจได้โดยที่ไม่ต้องมีพ่อแม่จูงมือตลอดเวลา” ขณะที่เราพูดคุยกันอยู่ ลูกสาวของเขากำลังวิ่งเล่นอยู่สักที่

“จริงอยู่ว่า โลกใบนี้มีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี แต่สุดท้ายแล้วลูกจะมองโลกแบบไหน ผมว่าขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่มองโลกยังไง เพราะเขาจะได้รับอิทธิพลจากเรา เราคุยกันว่าจะไม่สร้างโลกให้น่ากลัว แต่เป็นโลกที่มีเพื่อน มีมิตรภาพ มีคนใจดี แล้วเขาจะมีความสุขได้ไม่ว่าโลกจะเป็นยังไง ส่วนเรื่องภัยอันตรายซึ่งก็มีอยู่จริงในสังคม ผมคิดว่าเขาจะเรียนรู้ได้ เพราะเมื่อเขาเห็นแล้วว่าสังคมแบบนี้ปลอดภัยและน่าไว้วางใจ สังคมอีกแบบที่ตรงข้ามเขาก็จะระวัง ไม่เข้าไป โดยที่เขายังมองเห็นด้านดีๆ ได้”

พ่อเต้งคาดหวัง คาดการณ์ ต่อชีวิตของลูกไว้เยอะรึเปล่า เราถามต่อ

“ไม่ได้หวังว่าลูกจะเป็นยังไงนะ ตอนนี้ยังเป็นช่วงที่เราต้องดูแลเขา ผมพาเขามาอยู่ในเส้นทางที่ทำให้เขารู้จักตัวเอง จากนั้นพอเขาเห็นทางของตัวเองแล้ว เราจะเปลี่ยนหน้าที่เป็นแค่คนคอยสังเกต คอยเฝ้ามองดูเขาเดินทางต่อไป และเมื่อถึงวันที่ลูกรู้ว่าเขาเกิดมาบนโลกนี้เพื่อทำอะไร ผมคิดว่าหน้าที่ของผมก็จะจบลง”

ตัดภาพมาทางวงแม่

ชีวิตของ จิ๋ว — วีรวรรณ กังวานนวกุล เปลี่ยนไปเมื่อ 14 ปีที่แล้วตั้งแต่เธอมีลูกชาย

เราเจอกับแม่จิ๋วและแม่ๆ คนอื่นๆ ระหว่างกำลังล้อมวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทสนทนาของเหล่าคนเคยธรรมดาวงนี้ มีทั้งน้ำเสียงของความรัก เป็นห่วง ความเครียด และความชิลล์

“คาดหวังอะไรกับลูก” หนึ่งคำถามสั้นๆ ถูกโยนลงกลางวง

“เราไม่คาดหวังให้ลูกเป็นยังไงเลย” แม่จิ๋วตอบ “ไม่คาดหวัง ยืดหยุ่น เลี้ยงเป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ลูกเป็น ถึงวันนี้ 14 ปีแล้วในฐานะแม่ ก็ยังรู้สึกว่าลูกจะเป็นอะไรก็ได้ และทำอะไรก็ได้ เพราะแม่มีหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการเรียนรู้

“สำหรับเรา แม่ไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอน แต่ขอให้ลูกบอกเถอะว่าอยากทำอะไร และเราเองก็ต้องพยายามดูสถานการณ์ว่าเวลานั้นเกิดสภาวะอะไร ถ้าเราอำนวยได้ เราก็ยินดีเป็นผู้ช่วย”

แม่จิ๋วเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นแม่โฮมสคูล และเป็นนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้กับเด็ก พ่อแม่ และครู ซึ่งคนภายนอกอาจมองว่า หน้าที่อันหลากหลายเป็นภาระอันหนักหน่วง แต่สำหรับเธอกลับมองแบบไม่แยกส่วนออกจากกัน ทั้งความเป็นตัวเอง ความเป็นแม่ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นพลเมือง ทุกอย่างสามารถผสมผสานและไปด้วยกันได้

“เลี้ยงลูกยากไหม” อีกหนึ่งคำถามจากคนนอกวงถูกส่งเข้าไป

ยกกาแฟร้อนขึ้นจิบ แม่จิ๋วแชร์ประสบการณ์ว่า “การสื่อสารระหว่างแม่กับลูกเป็นสิ่งสำคัญ”

“เราควรติดตั้งเรื่องการสื่อสารความรู้สึกให้ลูก คือ ให้เขารู้ว่ากำลังรู้สึกอะไร จากนั้นสื่อสารให้ได้ว่าตัวเองรู้สึกอะไร เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง เมื่อแม่กับลูกสามารถสื่อสารความต้องการกันได้แล้วไม่ว่าจะแง่ลบหรือแง่บวก เราก็จะสามารถอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งการสื่อสารระหว่างมนุษย์มันไม่แฮปปี้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าถึงจุดนั้นเราก็ถอยคนละก้าว มาปรับจูนกันใหม่ เพื่อทำให้เข้าใจกันมากขึ้น”

สำหรับแม่จิ๋ว และดูเหมือนจะเป็นเสียงจากพ่อๆแม่ๆเกือบทุกคน การดูแลลูกเป็นเรื่องสนุก ท้าทาย ตื่นเต้น และทำให้เธอค้นพบความหมายบางอย่าง

“ลูกเป็นบทเรียนในชีวิตที่ทำให้เราเติบโต เมื่อก่อนเราก็เป็นคนธรรมดา แต่พอมีลูกแล้วก็เปลี่ยนเป็นอีกสถานะ และมันมีความมหัศจรรย์”

Parent Relearn Festival มหกรรมการเรียนรู้สำหรับพ่อแม่ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 11–12 มกราคม 2563 โดย Flock Learning การเรียนรู้อย่างรื่นรมย์เป็นไปได้ และพ่อแม่ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เริ่มจากเรา ‘Relearn’

มหกรรมร่วมจัดโดย
🔸Partners : Fathom Bookspace, CHAN Studio, ภาพพิมพ์, LIFEiS , มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม), Movement Playground, Blackbox, A-chieve, เถื่อนเกม, สำนักพิมพ์สานอักษร, สำนักพิมพ์ Sand Clock, TEP — Thailand education partnership, Base Playhouse, Amnesty International Thailand และกระบวนกรวิทยากรอาสาสมัครหลายเครือข่าย

🔸สนับสนุนกิจกรรมโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ มิวเซียมสยาม, ไวตามิ้ลค์, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), PDM BRAND, 3M, พ่อแม่ และผู้สนับสนุนสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมได้ที่ https://www.flocklearning.com/content/1650/flock-fundraising)

Flock — พ่อแม่และนักสร้างการเรียนรู้ ที่ชวนพ่อแม่มาเรียนรู้ไปด้วยกันกับเด็กๆ ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

https://www.facebook.com/Flocklearning/

--

--

Flocklearning

พ่อแม่และนักสร้างการเรียนรู้ ที่ชวนพ่อแม่มาสร้างการเรียนรู้ให้กับตัวเองและเด็กๆในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง